งาขี้ม่อน มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด
Share: facebook_share line_share twitter_share messenger_share

งาขี้ม่อน มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด


งาขี้ม่อน ถือเป็นธัญพืชเมล็ดเล็กที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะโอเมก้า 3 แต่ไม่ได้มีคุณประโยชน์เพียงเท่านี้ เพราะงาขี้ม่อนมีอะไรมากกว่าที่คุณคิดค่ะ

 

     งาม้อนหรือ งาขี้ม่อน (Perilla frutescens) เป็นพืชน้ำมัน นิยมปลูกทางภาคเหนือ บางท้องที่เรียกเพี้ยนเป็นงาขี้ม่อน ตามสำเนียงท้องถิ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perillafrutescens (L.) Britton อยู่ในวงศ์กะเพรา Labiatae (Lamiaceae) ลักษณะนิสัยเป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว สูง 0.3-1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ ขอบหยักฟันเลื่อย ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีขนปกคลุม ดอกสีขาว ผลรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ผิวมีลายร่างแห เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่ปลูกกันมานานในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเพรา โหระพา แมงลัก ส่วนใหญ่จะปลูกกันในพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝน งาขี้ม่อน สามารถบริโภคในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เมล็ดใช้ทานเปล่า เมล็ดนำไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวผสมเกลือซึ่งคนทางเหนือเรียก ข้าวหนุกงา นอกจากนั้นมีการแปรรูปจากงาขี้ม่อนหลายรูปแบบ เช่น งาขี้ม่อน คั่ว งาขี้ม่อนแผ่น ข้าวหลามงาขี้ม่อน คุกกี้ งาขี้ม่อน ชางาขี้ม่อน รวมไปถึงเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น

     เพราะฉะนั้น ที่เราเรียกกันว่าเม็ดหรือเมล็ด งาขี้ม่อน ที่จริงแล้วมันคือผล ไม่ใช่เมล็ด ต้น งาขี้ม่อน ออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และติดผลในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดย 1 ดอกจะติดผล 4 ผลหรือ 4 เม็ด

     เหตุผลที่เรียกว่า งาขี้ม่อน นั้น มาจากรูปร่างหน้าตาของผลงาขี้ม่อนที่มีความคล้ายคลึงกับมูลหรือขี้ของตัวหม่อนหรือม้อนที่ให้เส้นใยของไหม ขี้ของมันมีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ สีน้ำตาล ขนาดเท่า ๆ กันทุกเม็ด

     งาขี้ม่อน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวรวมทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินบี อี และมีสารเซซามอลที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และชะลอความแก่ มีผลการวิจัยพบว่าในน้ำมันงาม่อนมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้

     ประโยชน์ของโอเมก้า 3 ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างไขมันที่สำคัญในสมอง และจอประสาทตา มีประโยชน์ต่อระบบประสาทช่วยในเรื่องความจำและป้องกันโรคความจำเสื่อมในวัยชรา ป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้

     ประโยชน์ของโอเมก้า 6 ทำหน้าที่ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบต่าง ๆ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวหนัง ลดอาการแห้งกร้าน ริ้วรอยต่าง ๆ บนผิวหนัง

     วิตามินอี ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งป้องกันระบบประสาท ปอด กล้ามเนื้อ และตาจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ป้องกันหลอดเลือดแดงหัวใจแข็งตัวและเสริมภูมิคุ้มกัน

คุณค่าทางโภชนาการ : งาขี้ม่อน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมาก ได้แก่ โอเมก้า 3 มี 21.13-34.12% ซึ่งมีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับโอเมก้า 3 จากปลาทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 2.35% และมีโอเมก้า 6 ปริมาณ 21.2-24.1%

     นอกจากนี้ บางคนเชื่อว่า งาขี้ม่อน ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากกระบวนการอักเสบหรือความเสื่อมภายในร่างกาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด ภาวะหรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบความจำ เป็นต้น แต่หลักฐานด้านการแพทย์ในปัจจุบันนี้เกี่ยวกับ งาขี้ม่อน มีจำกัด และยากต่อการระบุประสิทธิภาพในการรักษาโรคเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของ งาขี้ม่อน ต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ดังนี้

 

-โรคหอบหืด งาขี้ม่อน มีส่วนประกอบของกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด กรดแอลฟาไลโนเลนิก (Alpha Linolenic Acid) ที่คาดว่าอาจมีคุณสมบัติยับยั้งสารลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย และอาจส่งผลดีต่อการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม

     การศึกษาชิ้นหนึ่ง พิสูจน์คุณประโยชน์ด้านนี้ของ งาขี้ม่อน โดยทดลองให้ผู้ป่วยโรคหอบหืด รับประทานน้ำมัน งาขี้ม่อน เพื่อเปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมัน งาขี้ม่อน มีปริมาณสารลิวโคไตรอีนในร่างกายลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ และอาการของโรคดีขึ้นหลังผ่านไป 4 สัปดาห์ ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งไม่ได้รับน้ำมัน งาขี้ม่อน กลับมีสารชนิดนี้ เพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากผ่านไป 1 เดือน จึงพอจะบอกได้ว่าการรับประทานน้ำมัน งาขี้ม่อน มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยช่วยยับยั้งการเกิดสารลิวโคไตรอีนจากกระบวนการอักเสบ และยังบรรเทาอาการของโรคให้ลดลงได้

 

-โรคภูมิแพ้อากาศ กรดโรสมารินิค (Rosmarinic Acid) เป็นสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบอีกชนิดที่พบใน งาขี้ม่อน โดยเข้าไปยับยั้งการหลั่งสารลิวโคไตรอีนขณะร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา จากงานวิจัยในสัตว์ชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่าสารสกัดจาก งาขี้ม่อน ช่วยลดการอักเสบได้ จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกรดโรสมารินิคที่สกัดจากธัญพืชชนิดนี้ในคนเพิ่มเติม โดยทดลองให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศรับประทานกรดโรสมารินิคในรูปแบบอาหารเสริมหรือยาหลอกเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 21 วัน จากนั้นทำการบันทึกความเปลี่ยนแปลงของอาการที่พบทุกวัน

     ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า กลุ่มที่รับประทานกรดโรสมารินิคมีอาการโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น อาการคัดจมูก คันตา น้ำตาไหล เป็นต้น ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงหลังจากรับประทาน นักวิจัยจึงคาดว่าสารสกัดจากงาขี้ม่อน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศชนิดไม่รุนแรงหรือโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น หากใช้เสริมจากวิธีการรักษาทางการแพทย์แบบปกติ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

 

-แผลร้อนใน โรคแผลร้อนในเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก แต่การศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคนี้ยังมีอยู่จำกัด ผลจากการค้นคว้าบางงานวิจัยพบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจเป็นอีกตัวเลือกของการป้องโรคแผลร้อนในได้ งาขี้ม่อน ซึ่งเป็นธัญพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างกรดแอลฟาไลโนเลนิกในปริมาณสูง จึงถูกเลือกมาใช้ในการทดลองหลายชิ้น

     งานวิจัยชิ้นหนึ่งให้อาสาสมัครชายหญิงที่เคยมีประวัติเป็นแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ใช้น้ำมัน งาขี้ม่อน หรือน้ำมันถั่วเหลืองในการทำอาหารเป็นระยะเวลา 8 เดือน ผลพบว่าอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มมีอัตราการเกิดแผลร้อนในซ้ำลดลงและแผลหายเร็วขึ้น รวมทั้งผลจากการเจาะเลือดตรวจดูระดับกรดไขมัน พบว่ามีระดับกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรับประทาน งาขี้ม่อน หรือผลิตภัณฑ์จาก งาขี้ม่อน ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลร้อนในให้น้อยลง การป้องกันควรทำควบคู่กับดูแลสุขอนามัยช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น อาหารทอด อาหารรสจัด ผลไม้ที่มีกรดสูง เป็นต้น

 

          ความปลอดภัยในการรับประทาน งาขี้ม่อน

     ปัจจุบัน มีหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของ งาขี้ม่อน ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ อยู่ไม่มากนักและระบุความปลอดภัยไม่ได้แน่ชัดเท่าไร การศึกษาเท่าที่มีพบว่าการรับประทาน งาขี้ม่อน นานติดต่อกัน 8 เดือนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ ส่วนการรับประทาน งาขี้ม่อน ในปริมาณปกติที่พบจากอาหารนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง

      สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน งาขี้ม่อน เพราะไม่พบข้อมูลยืนยันความปลอดภัยและผลข้างเคียงจากการใช้ จึงมีความเสี่ยงที่สารอาหารบางส่วนอาจส่งผ่านจากแม่ไปยังทารกในครรภ์หรือไหลผ่านน้ำนมได้ นอกจากนี้ การใช้ งาขี้ม่อน หรือผลิตภัณฑ์จาก งาขี้ม่อน กับผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือผื่นขึ้นในบางราย หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังการรับประทานหรือใช้ งาขี้ม่อน ควรหยุดใช้ทันทีและไปพบแพทย์

 

     ในอนาคตงาม่อนจึงถือเป็นอีกพืชหนึ่งที่มีโอกาสสร้างมูลค่าในกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมไปถึงบริษัทผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เล็งเห็นคุณประโยชน์ต่าง ๆ ในพืชชนิดนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องผลผลิตของงาม่อนที่มีความแปรปรวนสูงจึงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไม่เท่าความต้องการของผู้บริโภค

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ดูแลตัวเองด้วย น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นชนิดเม็ด

ประโยชน์ของ Omega-3