เช็คร่างกาย ขี้ลืมเฉยๆ หรือ เสี่ยงอัลไซเมอร์
Share: facebook_share line_share twitter_share messenger_share

เช็คร่างกาย ขี้ลืมเฉยๆ หรือ เสี่ยงอัลไซเมอร์


อาการหลงลืม เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น แต่นั่นอาจเป็นสัญญาณของ โรคอัลไซเมอร์ ที่จะค่อย ๆ ทำให้คุณสูญเสียความทรงจำ รวมถึงทักษะการคิด หรือการใช้เหตุผล มาลองดูวิธีเช็คสัญญาณที่ร่างกายที่บ่งบอกว่า คุณอาจจะกำลังเป็น โรคอัลไซเมอร์ และวิธีป้องกันแบบง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงกันเถอะค่ะ

 

รู้จักกับ โรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรค ที่เกิดจากความเสื่อม ถอยของการทำงาน หรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อ ของ สมอง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็น ต้องเป็น อัลไซเมอร์ ทุกคน แต่เป็นความเสื่อม ที่เกิดจาก โปรตีน ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า - อะไมลอยด์ ( beta-amyloid ) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมอง จะส่งผลให้ เซลล์สมองเสื่อม และฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่าง เซลล์สมอง เสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ( acetylcholine ) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

 

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ( hippocampus ) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่น ๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม

 

อัลไซเมอร์ กับภาวะ สมองเสื่อม

โรคอัลไซเมอร์ กับภาวะสมองเสื่อม ( dementia syndrome ) นั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งการเข้าใจความแตกต่าง จะช่วยให้ผู้ป่วย และญาติเข้าใจการวินิจฉัย ของแพทย์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง  กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นผลมาจากการเสื่อมของสมอง หลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ ได้แก่

ภาวะสมองเสื่อม ที่รักษาให้หายขาดได้ พบประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด โดย สาเหตุมักเกิดจากโรคทางกาย เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การ ขาดวิตามินบี 12 และ โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด พบมากถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุถึงร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเป็นโรค ที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์อีก 5 - 6 โรค 

 

อาการหลงลืมตามวัย หรือ ขี้ลืม ได้แก่ หลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่บ่อย และไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยอาการหลงลืมตามวัยนี้จะดีขึ้นได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะจดจำอย่างจริงจัง เช่น จดบันทึก เตือนตัวเองโดยวิธีการต่าง ๆ ฝึกตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ จะช่วยลดอาการหลงลืมให้น้อยลงได้

 

อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง พบบ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นการสูญเสียความสามารถทางสมองโดยเฉพาะความจำระยะสั้นที่จะเสียไป รวมถึงความเฉลียวฉลาด การใช้เหตุผล ภาษา การคิด การตัดสินใจ อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

เช็คสัญญาณอัลไซเมอร์  : เราสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของ โรคอัลไซเมอร์ได้  ดังนี้

  • ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคัน และไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ หรือพูดย้ำกับตัวเอง รวมถึงอาจพูดน้อยลง
  • สับสนเรื่องเวลา หรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใด และเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
  • บกพร่องในการรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือ ไม่สามารถแยกแยะรสชาติ หรือกลิ่นได้
  • บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจ หรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อย ๆ
  • บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่าย โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

 

ทำอย่างไรให้ห่างไกล อัลไซเมอร์

  1. ไม่ควรอยู่กับบ้านเฉย ๆ ควรทำกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ชอบ
  2. ร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อาสาสมัคร ชมรมต่าง ๆ
  3. ออกกำลังกาย เช่น แอโรบิค โยคะ เดินในที่อากาศโปร่ง
  4. เล่นกีฬาที่มีการฝึกสมอง เช่น หมากรุก เพราะช่วยให้ใจสงบ มีสมาธิ และเป็นการปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุล และกระตุ้นสมองให้คิด วางแผน ตัดสินใจ ทำให้สมองแข็งแรง และทำงานอย่างสมดุล
  5. ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้เกิดการเชื่อมโยงของระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และสมองส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ทำจิตใจให้แจ่มใส และฝึกสมอง ให้มีการใช้ความคิด ความจำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ
  6. สิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย  งดเหล้า และ บุหรี่ ทานอาหารบำรุงสมอง เช่น โอเมก้า 3 ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เป็นต้น

 

หากคุณลองสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นหลายข้อ ควรรีบไปพบแพทย์ระบบประสาทหรือจิตแพทย์โรคอัลไซเมอร์โดยด่วน เพื่อที่จะทำการวินิจฉัย และรักษาให้ทันท่วงที

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก COCO MEGA 3 แคปซูลน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ตราแมนเนเจอร์ (Organic Coconut Oil Capsule COCO MEGA 3 By ManNature)

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Principal Healthcare

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

บทความ แคปซูลน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

ดูแลสุขภาพด้วยแคปซูลน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น